คนไทยผวา! ซ้ำ วัยรุ่น 14 ปี กราดยิงกลางห้างพารากอน [1]
เปิดแชต 5 โจ๋ทรชน สารภาพกับรุ่นพี่ฆ่าป้าบัวผัน บอกชัดเด็ก 14 ลูกตำรวจเป็นคนเริ่ม [2]
ไม่ใช่แค่เฉพาะกรณีที่เป็นข่าวข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่กระทำความผิดแต่ไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ
ปี 2561-2565 มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 12-18 ปี กระทำความผิด 134,747 คดี โดยมากกว่า 60% ของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นเด็กยากจน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และถูกปฏิเสธจากชั้นเรียนในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ออกกลางคันในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น [3] อีกทั้ง อัตราการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปีของเด็กและเยาวชนยังคงสูงถึงราว 40% [4]
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม คือปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจพลาดจนต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรและไม่สามารถก้าวพ้นออกจากวังวนเดิมจนต้องกระทำผิดซ้ำ นำมาสู่คำถามว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งเน้นการลงโทษด้วยกฎหมายคือทางออกที่เพียงพอต่อปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนแล้วหรือไม่ ?
ชวนหาคำตอบผ่านการมอง ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา’ (Restorative Justice) ในฐานะเครื่องมือที่หลายประเทศหยิบมาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน กับ อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการอาวุโสและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาคืออะไร
กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาคือกระบวนการที่ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมนั้นๆ เข้ามามีบทบาทนำในการแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกที่เกิดจากความพึงพอใจร่วมกัน ด้วยแนวคิด ‘ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง’ (Victim Centered Approach) มีเป้าหมายสูงสุด 3 ข้อ คือ เยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างสำนึกของผู้กระทำความผิด และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ
หากยึดตาม ‘หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters) สามารถแบ่งผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาออกเป็น 3 ฝ่าย
1. ผู้เสียหาย (victim) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในกระบวนการ มีทั้งผู้เสียหายทางตรงและผู้เสียหายทางอ้อม โดยผู้เสียหายทางตรงจะมีความชัดเจนกว่าในแง่การสื่อสารว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไร และมีความต้องการในการเยียวยาอย่างไรบ้าง แต่หากเป็นผู้เสียหายทางอ้อม เช่น ชุมชนหรือสมาชิกที่อยู่แวดล้อม อาจจะใช้กระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นในระดับชุมชนและจัดการแก้ปัญหา
2. คนที่กระทำ (offender) ผู้ที่กระทำความผิดต้องมาเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งนี้ ในคดีที่ผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นเด็ก หรือเป็นคนที่อยู่ในความดูแลของคนอื่น เช่น อาจจะมีภาวะวิกลจริต ต้องมีคนอื่นที่มีบทบาทในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือควบคุมดูแลผู้กระทำผิดเข้ามาร่วมในกระบวนการด้วย เช่น ผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อน
3. สมาชิกหรือบุคคลในชุมชน (members of community) บุคคลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือคนเห็นเหตุการณ์ ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ในหลายประเทศจะใช้โมเดลในลักษณะ Peace building Circles หรือการล้อมวง เป็นบุคคลในชุมชนที่เข้ามาช่วยกันออกแบบว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดอย่างไร จะเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร
อย่างไรก็ตาม คนที่เข้ามามีบทบาทร่วมแต่ไม่ถือว่าเป็นอีกฝ่าย คือคนกลาง (facilitator) ซึ่งถูกกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีลักษณะของการใช้อำนาจเหนือ เป็นคนคอยกระตุ้น หว่านล้อม เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการและหาข้อสรุปร่วมกันได้ จะไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าผิดมาตราไหน วินิจฉัยหรือพิพากษาคดี ควรจะเป็นคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดในวงนั้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาจะช่วยส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่ได้อย่างไร
กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักโดยเฉพาะทางอาญา มีหลักคิดพื้นฐานคือรัฐมีหน้าที่เอาการกระทำบางอย่างที่สังคมไม่ยอมรับมาลงโทษหรือกีดกันออกไปจากสังคม เพราะเป็นสิ่งอันตราย เป็นความไม่ปลอดภัย เมื่อหลักคิดเป็นแบบนี้การออกแบบระบบกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ทำให้แต่ละฝ่ายต้องเอาพยานหลักฐานมายืนยันคำกล่าวอ้างของตนเองเพื่อเอาคนผิดไปลงโทษ สะท้อนผ่านคำพูดเช่น ตาต่อตาฟันต่อฟัน ลงโทษให้หนัก เราเรียกว่า ‘แนวทางแบบแก้แค้นทดแทน’ (Retributive Justice) จึงเป็นที่มาของโทษ 5 สถาน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
ปัญหาคือ ผู้เสียหายได้รับอะไรตอบแทนจากการที่เขามาเป็นพยานให้กับศาล การเอาคนผิดเข้าคุกคือความยุติธรรมที่เพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมันอาจกระทบมากกว่านั้น จึงเกิดแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา เพื่อตอบว่าเราควรเยียวยาผู้เสียหายอย่างไรบ้าง โดยที่รัฐต้องเป็นผู้นำด้วย มันคือการใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไป คือเราต้องฟังเสียงของผู้เสียหายให้มากขึ้นว่าได้รับผลกระทบทางร่างกาย จิตใจ และความรู้สึกอย่างไร ไม่ใช่แค่เกิดอะไรขึ้นกับเขา แล้วเก็บเอาข้อความเหล่านั้นมาเป็นพยานในศาลแล้วจบไป ปล่อยผู้เสียหายกลับบ้านไป โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับเขาเลย
แต่ข้อดีของระบบแบบดั้งเดิมคือการที่ไม่เอาความเป็นมนุษย์ใส่เข้าไปจนเยอะเกินไป ทำให้ไม่มีอัตวิสัย (subjectivity) หรือมุมมองความคิดเห็นของบุคคล แต่เป็นภววิสัย (objectivity) หรือสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงว่ากันไปตามองค์ประกอบความผิด แต่เมื่อเป็นภววิสัยอยู่บนข้อเท็จจริงมากเกินไป ทำให้เราลืมผลกระทบทางร่างกาย จิตใจ ความรู้สึก ที่เกิดกับผู้เสียหาย จุดนี้จึงควรทำให้มันสมดุลได้ ไม่ได้หมายความว่าใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในกระบวนการ แล้วเอาความรู้สึกมาเป็นตัวตั้งจนหลงลืมหรือละเลยการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายตามแบบแผนที่มีอยู่
สังคมแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะส่งผลต่อการเติบโตของเด็กอย่างไร
การใช้บทลงโทษที่รุนแรงมีทั้งโทษและประโยชน์ในตัวมันเอง เราต้องมองหาจุดสมดุลและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ หากเรากำหนดโทษที่มีความรุนแรงอาจส่งผลในเชิงป้องกันต่อคนที่รู้สึกหวาดกลัวโทษและไม่กระทำความผิด แต่ในขณะเดียวกันหากคนที่ผ่านกลไกทางพฤติกรรมและจิตใจมาถึงจุดที่เขาเริ่มทำความผิดแล้ว เราจะพบว่าเขามีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ก็มีระดับความรุนแรงที่ต่างกันและส่งผลในทางความรู้สึกหวาดกลัวได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดที่คนผ่านระดับภายในจิตใจของตัวเองและเริ่มทำความผิดไปแล้ว ก้าวเข้าสู่วงจรของการลงโทษแล้วเขาจะรู้สึกคุ้นชินและไม่รู้สึกว่านี่คือการลงโทษ ในทางทฤษฎีอาชญาวิทยาจึงต้องหาจุดสมดุล
ยิ่งหากเป็นกรณีเด็กเขาจะซึมซับสิ่งรอบตัวเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิต ไม่ต้องถึงขั้นกระบวนการยุติธรรมที่จะลงโทษเขา แค่ในครอบครัวที่เริ่มลงโทษเขาและมีการใช้ความรุนแรง เด็กจะเริ่มซึมซับตั้งแต่ในครอบครัว เมื่อไปอยู่ที่โรงเรียนถ้าครูและเพื่อนเริ่มใช้ความรุนแรง เขาก็จะซึมซับและอาจนำไปปฏิบัติกับคนอื่นเช่นกัน หรือบางคนอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ภาวะ PTSD หรือความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder) และอาจกลายเป็นอาชญากรในที่สุด ผลจากการถูกทำร้ายหรือถูกลงโทษมันจึงส่งผลทั้งสิ้นและมีแนวโน้มส่งผลไปในทางลบมากกว่าทางบวก เราจึงต้องใส่ใจกับการลงโทษที่ตรงจุดและค้นหาต้นเหตุของพฤติกรรม
หากนำกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยามาปรับใช้อย่างสอดคล้องตามหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติ จะช่วยเปิดช่องให้เกิดการนำกระบวนการแทรกแซง (intervention) ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและจิตวิทยามาใช้แก้ปัญหากับเด็กในแต่ละช่วงวัย กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาไม่ใช่การโอ๋หรือหันเหเด็กออกมาเพื่อไม่ให้รับโทษหากกระทำผิด แต่คือการมองหาว่าต้นเหตุคืออะไร มีผลอย่างไร ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบไหน และควรแก้ไขเยียวยาความเสียหายต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับรองกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาและนำมาปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กมายาวนาน ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาเกิดกรณีที่เด็กก่ออาชญากรรมรุนแรงตามหน้าข่าวหลายครั้ง มีกระแสสังคมบางส่วนที่อยากเพิ่มโทษทางกฎหมายแก่เด็กให้หนักกว่านี้ มองเรื่องนี้อย่างไร
หากมองเรื่องการเอากระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยามาใช้ในคดีอาญาที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก ไทยเรามีกฎหมายเฉพาะ เช่น พระราชบัญญติศาลและเยาวชน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีเหตุยกเว้นโทษของเด็ก และไปใช้กฎหมายเฉพาะของเด็กแทน เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างเป็นระบบและมีพัฒนาการค่อนข้างดี เรามีการจัดตั้้ังศาลเยาวชนมายาวนาน มีการอบรมผู้พิพากษาสมทบ ผู้พิพากษาประจำศาลเด็กและเยาวชน มีการอบรมนักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ มีการออกแบบมาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 132 เป็นลำดับไป เมื่อไปถึงชั้นศาลแล้วก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาได้ ซึ่งมีแบบแผนและพัฒนาการสูงมากๆ ประเทศหนึ่งในโลก
ต้องบอกว่าในคดีเด็ก เรามีโทษสำหรับเด็ก เพียงแต่สังคมไม่ได้รับรู้ว่านั่นคือโทษ เพราะเราไม่เรียกมันว่าโทษ ในการสื่อสารกับสังคมมุมหนึ่งเราก็ไม่อยากจะให้เกิดภาพเหมารวม (stereotype) หรือตราบาปกับตัวเด็ก เพราะเรามองว่าเด็กสามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ การใช้โทษมันควรจะเป็นมาตรการสุดท้าย หรือหากในทางปฏิบัติการที่เรามีสถานพินิจหรือศูนย์ฝึกมันคือการลงโทษ เพียงแต่เราไม่เรียกมันว่าโทษ
ในทางสิทธิมนุษยชนเด็กจะมุ่งคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก กระบวนการใดที่ทำแล้วกระทบต่อประโยชน์ที่เด็กจะได้รับทางใดทางหนึ่ง แสดงว่ากระบวนการนั้นอาจยังไม่ใช่กระบวนการที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ต้องคำนึงถึงเรื่องพัฒนาการของเด็ก ทักษะในการสื่อสาร การเจริญเติบโตทางชีววิทยา การยับยั้งชั่งใจ การคิดว่าอะไรถูกผิด การกระทำที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ด้วยฮอร์โมนมันมีมากกว่าตรรกะและการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กและเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน เราจึงต้องให้โอกาสเขาในการแก้ปัญหา
ในมุมหนึ่งก็สามารถมองว่าการที่เด็กกระทำผิดจะต้องมีการลงโทษ มีกระบวนการทำให้หลาบจำ เด็กต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จุดสมดุลคือเราต้องมีกระบวนการที่ดำเนินการกับเด็กแต่คำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดกับตัวเด็กด้วย เพื่อไม่ให้เด็กเกิดปมในใจ (trauma) ว่าฉันเคยติดคุกมาก่อน มีประวัติอาชญากร จะไปทำอะไรต่อได้ในชีวิต
จากการสำรวจของ TIJ พบว่าเด็กที่อยู่ในศูนย์ฝึกเยาวชน จำนวนตัวอย่างการสัมภาษณ์ 1,500 กว่าคน มีกว่า 80% ที่มีความไม่สมบูรณ์ในหลายๆ เรื่อง ทั้งด้านครอบครัว การถูกกระทำความรุนแรง ถูกละเมิดสิทธิรูปแบบต่างๆ จึงต้องดูถึงภูมิหลังว่าเด็กที่กระทำผิดเป็นอย่างไร จำเป็นต้องได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูอย่างไรจึงเหมาะสมเป็นรายเฉพาะบุคคล
ในต่างประเทศมีการนำแนวทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาไปปรับใช้กับปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างน่าสนใจ คือ ประเทศไอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา จะให้บทบาทของศาลเป็น Problem-Solving Courts คือศาลที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่แค่พิพากษาให้จำคุกหรือปรับ แต่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะหากเราตัดตอนมาแค่การกระทำหนึ่ง เราจะดูเพียงแค่ครบองค์ประกอบภายนอกและภายใน จากนั้นพิพากษาได้ แต่ถ้าเป็น Problem-Solving Courts จะดูลงไปลึกกว่านั้น ดูลงไปในระดับภูมิหลังการกระทำ ปัจจัยแวดล้อม ความรู้สึก ความคิด ความต้องการ ของคนที่กระทำความผิด
เช่น เคสที่ประเทศไอร์แลนด์ มีกรณีเด็กไปพ่นสีกำแพง ซึ่งเป็นการทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอาญา แต่เมื่อใช้กระบวนการประชุมครอบครัวดึงบุคคลแวดล้อมมามีส่วนร่วม ศาลใช้นักจิตวิทยาขุดลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งถึงความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงของเด็ก จึงพบว่าจริงๆ แล้วเด็กเป็นคนที่มีความสามารถในทางศิลปะมาก แต่ไม่มีพื้นที่ในการปล่อยพลัง ทุกครั้งที่หยิบงานศิลปะไปให้พ่อแม่ดู พ่อแม่ก็เฉยๆ ไม่ได้ชื่นชม และอยากให้ลูกหันไปให้ความสำคัญกับอื่นๆ มากกว่า ศาลจึงมองว่าความต้องการที่แท้จริงของเด็กคือการได้รับการยอมรับ ในสิ่งที่เขาทำได้ดี พ่อแม่จึงต้องมีบทบาทที่เปลี่ยนไป
ศาลจึงพิพากษาสั่งให้เด็กคนนี้ไปเป็นครูผู้ช่วยสอนวิชาศิลปะให้แก่เด็กชั้นมัธยมต้นแล้วให้ครูเป็นคนประเมิน เด็กจึงรู้สึกภูมิใจมากที่ศาลเห็นอะไรในตัวเขา ซึ่งจริงๆ มันคือการลงโทษอย่างหนึ่งผ่านการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ที่ตรงกับการแก้ปัญหาจึงเป็นตัวอย่างว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องการลงโทษ คนทั่วไปอาจมองว่าต้องไปจำคุก แต่สำหรับเด็กวิธีการลงโทษที่ดีที่สุดคือการลงโทษที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาในการกระทำความผิดนั้นๆ ที่ต้นเหตุ
TIJ มีส่วนในการผลักดันกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนอย่างไรบ้าง
เราเห็นว่าเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ และคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมีพ่อแม่ ครู และเพื่อน ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเยอะกว่าอยู่ที่บ้าน โรงเรียนจึงถือเป็นพื้นที่สำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมเด็ก และหากต้องการป้องกันอาชญากรรม จึงต้องให้ความสำคัญกับโรงเรียนและครอบครัว ในฐานะที่โรงเรียนเป็นศูนย์รวมของเด็ก จึงควรเริ่มต้นที่โรงเรียนก่อน
หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ TIJ ทำร่วมกับเครือข่ายอยู่คือ RJ in School เป็นการพยายามลงไปสร้างความตระหนักในระดับโรงเรียนก่อน การที่เราสร้างความตระหนักในกลุ่มนักเรียนด้วยกันแล้วทำให้เค้ารู้วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ มันก็จะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในฐานะเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรม หรือทำให้ความขัดแย้งไม่บานปลายไปสู่อาชญากรรมได้ด้วย
ในขณะเดียวกัน การเอาแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาไปใส่ในโรงเรียน ถือเป็นความพยายามเปลี่ยนแนวคิดของครู ไม่ให้ใช้ลักษณะของการมีอำนาจเหนือในโรงเรียน ไม่อยากให้ครูพยายามจำลองบทบาทของตำรวจ อัยการ ศาล ไปไว้ที่โรงเรียน เพราะทุกวันนี้เราก็จะเห็นข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าครุฝ่ายปกครองหรือครูประจำชั้น ทำโทษเกินสมควรหรือไม่รู้จักวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เช่น การตัดผมเด็ก ละเมิดสิทธิเด็ก หรือนักเรียนมาสายก็ให้ยืนหน้าเสาธงตากแดดไปเรื่อยๆ คือสิ่งที่เราต้องการให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมันมีวิธีการมากมายที่ทำได้ตรงจุดกว่านั้น การที่เด็กมีปัญหาในทางพฤติกรรมเราต้องลงทุนไปค้นว่าเขามีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่แค่การเรียกผู้ปกครองพบ ขึ้นทัณฑ์บน พักการเรียน
การแก้ปัญหาเด็กที่ตรงจุดจึงเป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายของการทำ RJ in School โดยนำร่องดำเนินการร่วมกับโรงเรียนในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหลักคิดหรือนโยบายคล้ายๆ กับแนวทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เรื่องการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี จึงร่วมกันจัดทำ Youth camp หรือค่ายอบรมทั้งนักเรียนและครู เพื่อแนะนำให้เด็กเข้าใจถึงหลักคิดและทดลองออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาในโรงเรียน ซึ่งเด็กก็จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่พวดเขาเผชิญเองอย่างน่าสนใจและตรงจุด
ตัวอย่างน่าสนใจคือ มี 2-3 โรงเรียนที่ผู้บริหารโรงเรียนเปลี่ยนจาก ‘ห้องปกครอง’ เป็น ‘ห้องอภิบาลนักเรียน’ นักเรียนแทน ก็เปลี่ยนแนวคิดของห้องปกครองไปเลย จากเดิมคือห้องที่เอาเด็กมาคุยว่าทำอะไรผิดและจะลงโทษอะไร กลายเป็นพื้นที่รับฟังให้คำปรึกษาสำหรับเด็กที่มีปัญหา โดยมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่อสรุปได้ว่าเด็กคนนี้ต้องการการออกแบบการแก้ไขปัญหาแบบไหน และเอาผู้เสียหายมามีส่วนร่วมด้วย เป็นความร่วมมือระหว่างคุณครู นักจิตวิทยา เพื่อนร่วมห้อง และผู้ปกครองด้วย
มีตัวอย่างกรณีที่เด็กนักเรียนชายจับหน้าอกนักเรียนหญิง ซึ่งมันคือการอนาจารแบบหนึ่ง ถ้านักกฎหมายมองก็จะมองว่าเป็นการผิดกฎหมายมาตราไหน แต่หากเราเอาประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้งเราจะไม่มองเรื่องการลงโทษเป็นตัวตั้งก่อน แต่จะมองเรื่องการแก้ปัญหาก่อน คือเราอยากรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร เราต้องเยียวยาเด็กผู้หญิงที่ได้รับความเสียหาย ไม่กล้ามาโรงเรียน ครูกับนักจิตวิทยาจึงต้องเข้าไปคุยว่าจะแก้ไขปัญหาเด็กคนนี้ได้อย่างไร จะปลดล็อกปมในใจของเขาได้อย่างไรบ้าง ฝั่งผู้กระทำผิด ถ้าจะให้ดำเนินคดีก็ต้องออกจากโรงเรียน เป็นผลเสียกับตัวเด็ก วิธีการของโรงเรียนจึงต้องคุยแยกฝั่งก่อน ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด สุดท้ายแยกห้องเรียนเด็กที่กระทำผิด และมีมาตรการในการกำกับพฤติกรรม เขาต้องมารายงานตัวกับคุณครู ต้องทำการรณรงค์เรื่องการคุกคาม (harassment) ในโรงเรียน เขาต้องออกแบบการจัดกิจกรรมกับเพื่อน ๆ สุดท้ายเวลาผ่านไปสองเทอม เด็กสองคนนี้ก็สามารถกลับมาคุยกันได้อีกครั้ง
นอกจากกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาที่ดูเหมือนจะเป็นปลายทางในการแก้ปัญหาแล้ว เราควรแก้ปัญหาส่วนไหนของสังคมไปพร้อมกันบ้าง เพื่อไม่ให้เด็กกระทำผิดซ้ำ
ต้องบอกว่าสภาพแวดล้อมสังคมบ้านเราขาดระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กอย่างมีสุขภาวะที่ดี เช่น ในสภาพสังคมเมืองกับสังคมชนบทที่ประชากรมีความแตกต่างด้านรายได้กันอย่างมาก เด็กในครอบครัวที่ยังไม่รู้ว่าตอนเย็นนี้จะกินอะไรกับเด็กที่มีพร้อมให้เลือกว่าอยากกินอาหารแบบไหน ย่อมโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันและมีส่วนทำให้พฤติกรรมการตัดสินใจของเด็กต่างกันไปตามเงื่อนไขของพวกเขา
สังคมจึงถือเป็นแหล่งหล่อหลอมเด็กที่สำคัญ ระดับแรกคือครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดต้องมีความพร้อมในการให้คุณค่ากับเวลาในการเลี้ยงดูเด็ก ถัดมาคือโรงเรียนที่ต้องมีความพร้อมในการให้มุมมองความเข้าใจของเด็กต่อการเติบโต และในระดับสังคมต้องมีพื้นที่ในการโอบรับให้เด็กแสดงออกและรับฟังเสียงของพวกเขาอย่างมีความหมาย ซึ่งในปัจจุบันสังคมเรายังขาดแคลนพื้นที่เหล่านั้น หรือหากมีก็รับฟังเสียงเด็กพอเป็นพิธีแต่ไม่ได้นำไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างเสียงจากเด็กในเมืองหลวงกับเสียงจากเด็กในพื้นที่ห่างไกล สังคมเรารับฟังเสียงของพวกเขาอย่างเท่าเทียมแล้วหรือยัง เราจึงต้องตั้งคำถามกับสังคมเองด้วย
อ้างอิง :
[1] ข่าวดังข้ามปี 2566 : คนไทยผวา! ซ้ำ วัยรุ่น 14 ปี กราดยิงกลางห้างพารากอน
[2] เปิดแชต 5 โจ๋ทรชน สารภาพกับรุ่นพี่ฆ่าป้าบัวผัน บอกชัดเด็ก 14 ลูกตำรวจเป็นคนเริ่ม
[3] กสศ. ผนึกกรมพินิจฯ และ 20 เครือข่าย ผลักดัน “โอกาสใหม่การศึกษาเพื่อเปลี่ยนชีวิต คืนคนคุณภาพสู่สังคม”
[4] คุยกับอธิบดีกรมพินิจฯ ถึงกลไกทางสังคมกับการคืนเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดสู่สังคม กรณีศึกษา เน็ตทำกิน
คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม
ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายประสานนโยบาย 3 (การส่งเสริมหลักนิติธรรมและความยุติธรรมทางอาญา) สำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย