เติมความเป็นมนุษย์ให้กระบวนการยุติธรรม ด้วย ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ กับ อุกฤษฏ์ ศรพรหม

  นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) รับรองเอกสาร ‘หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters) นี่คือหมุดหมายสำคัญที่เปิดช่องให้ทั่วโลกนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์’ มาพัฒนาและปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ความยุติธรรมได้รับการอำนวยต่อผู้ร้องขออย่างมีประสิทธิภาพ อุด ‘ช่องว่าง’ ที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักไม่สามารถเติมเต็มได้ ‘ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายในกระบวนการ’ ‘เยียวยาผู้เสียหาย’ ‘สร้างสำนึก’ ‘สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง’ คือแนวทางที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์พยายามทลายกำแพงระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด สร้างสำนึกผิดเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษ และสมานบาดแผลจากความขัดแย้ง ความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังที่ อุกฤษฏ์ ศรพรหม กล่าวไว้ว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการที่เราใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ไม่ได้มองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่กระบวนการ แต่คือสิ่งที่มนุษย์หลายคนร่วมกันหาทางออกร่วม เพราะฉะนั้น มันเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายได้จริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้กระทำความผิดก็ได้รับรู้ผลกระทบที่ตามจากการกระทำของตนเองและมีโอกาสได้พัฒนาวิธีคิดการสร้างสำนึกได้มากขึ้น” ไทยคือหนึ่งในประเทศที่รับรองข้อมติแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์มาตั้งแต่ต้น และมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้โอบรับหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นลำดับในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีคดีเยาวชน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อไปอยู่ที่การปรับโครงสร้างกฎหมาย เพื่อให้กรอบนโยบาย งบประมาณ และเจ้าหน้าที่มีความพร้อมต่อการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์อย่างเต็มรูปแบบ […]