การพัฒนาทักษะ RJ ในสถานศึกษา

โรงเรียน คือ สถานที่ริเริ่มมาตรการที่เป็นธรรม ปลูกฝัง ความยุติธรรมให้เป็นเรื่องของทุกคน ให้สิทธิ ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับเด็กบางคนนั้น การถูกเรียกเข้าห้องปกครองเปรียบเสมือนการย่างก้าวเข้าสู่กระบวนการทางศาล ก่อให้เกิดความหวาดระแวงในจิตใจต่อกระบวนการสอบสวน ตัดสิน และการลงโทษจากคุณครู ความหวั่นวิตกเหล่านี้ก่อกำแพงคั่นกลางความไว้วางใจระหว่างผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และครูผู้สอน ลดทอนการสร้างจิตสำนึกของการรู้ผิดรู้ชอบ ทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่อาจสั่งสมจนเป็นปัญหาความขัดแย้งและกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด ปรากฏการณ์ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีลักษณะที่หลากหลายและส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทั้งบุคคลและชุมชน จึงนับเป็นปัญหาสำคัญที่ครูผู้สอนไม่อาจละเลยหรือเพิกเฉยได้ ครูผู้สอนจึงจำเป็น ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงแนวทางในการบริหารจัดการข้อขัดแย้งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดทอนผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความพยายามในการแสวงหาแนวทางและมาตรการในการจัดการความขัดแย้งภายในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกระบวนกรจาก Peace Academy และ Life Education Thailand จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (Restorative Justice) ในสถานศึกษา เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมทักษะสำคัญในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: Restorative Justice – […]