บทความน่ารู้ จาก RJ

การพัฒนาทักษะ RJ ในสถานศึกษา

โรงเรียน คือ สถานที่ริเริ่มมาตรการที่เป็นธรรม

ปลูกฝัง ความยุติธรรมให้เป็นเรื่องของทุกคน

ให้สิทธิ ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับเด็กบางคนนั้น การถูกเรียกเข้าห้องปกครองเปรียบเสมือนการย่างก้าวเข้าสู่กระบวนการทางศาล ก่อให้เกิดความหวาดระแวงในจิตใจต่อกระบวนการสอบสวน ตัดสิน และการลงโทษจากคุณครู ความหวั่นวิตกเหล่านี้ก่อกำแพงคั่นกลางความไว้วางใจระหว่างผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และครูผู้สอน ลดทอนการสร้างจิตสำนึกของการรู้ผิดรู้ชอบ ทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่อาจสั่งสมจนเป็นปัญหาความขัดแย้งและกลายเป็นความรุนแรงในที่สุด  

ปรากฏการณ์ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีลักษณะที่หลากหลายและส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทั้งบุคคลและชุมชน จึงนับเป็นปัญหาสำคัญที่ครูผู้สอนไม่อาจละเลยหรือเพิกเฉยได้ ครูผู้สอนจึงจำเป็น ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงแนวทางในการบริหารจัดการข้อขัดแย้งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดทอนผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความพยายามในการแสวงหาแนวทางและมาตรการในการจัดการความขัดแย้งภายในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการส่งเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกระบวนกรจาก Peace Academy และ Life Education Thailand จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (Restorative Justice) ในสถานศึกษา เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมทักษะสำคัญในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: Restorative Justice – RJ) ให้แก่ครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา การอบรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในโรงเรียน อันจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมแห่งการรับฟัง ความเข้าใจ และการเยียวยา ซึ่งล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน 

RJ ในฐานะกลไกการบรรเทาข้อพิพาท

กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (หรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: Restorative Justice – RJ) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นกลไกสำคัญในการจัดการและคลี่คลายความขัดแย้งอย่างยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความผิด เพื่อสร้างความเข้าใจ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ และส่งเสริมการเยียวยาทางจิตใจและสังคมอย่างแท้จริง

A group of people sitting at a table

AI-generated content may be incorrect.หนึ่งในลักษณะเด่นของกระบวนการ RJ คือความยืดหยุ่นของรูปแบบการดำเนินการ เช่น การประชุมแบบวงกลม (Restorative Circles) ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความสมดุลของบทบาทภายในวงสนทนา ผู้เข้าร่วมทุกฝ่าย—ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด หรือสมาชิกในชุมชน—จะเปิดพื้นที่ในการแสดงความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างเท่าเทียม กระบวนการดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ผ่านทักษะการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) และการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างกัน ด้วยกระบวนการเหล่านี้ RJ ไม่เพียงมุ่งหวังให้เกิดการเยียวยาระหว่างผู้กระทำผิดและผู้เสียหายเท่านั้น แต่ยังมุ่งเสริมสร้างสำนึกในการรับผิดชอบของผู้กระทำผิด และสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือในชุมชน อันจะนำไปสู่การบรรเทาและป้องกันข้อพิพาทในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

บทบาทของคุณครูในฐานะผู้อำนวยความยุติธรรมและผู้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในสถานศึกษา

คุณครูถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (RJ) และมีบทบาทโดยตรงในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนในสถานศึกษา ทักษะความสามารถในการทำความเข้าใจของครูต่อปัจจัยแวดล้อมและเบื้องหลังพฤติกรรมของนักเรียนอย่างลึกซึ้งจะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความไว้วางใจจากเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กระบวนการ RJ ดำเนินไปด้วยความยินยอมและเต็มใจจากทุกฝ่าย ความไว้วางใจของผู้เข้าร่วมกระบวนการ RJ จะสามารถผลักดันให้บรรลุความต้องการของทุกฝ่ายในการร่วมกันแก้ไขข้อพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการฝึกฝนทักษะในการดำเนินกระบวนการ RJ ให้แก่ครูผู้สอน ไม่เพียงแต่ช่วยให้ครูเกิดความตระหนักรู้ (Self-awareness) ในมุมมองและประสบการณ์ของเยาวชนเท่านั้น หากยังช่วยส่งเสริมทักษะในการเข้าใจสถานการณ์ที่นักเรียนอาจเผชิญ รวมถึงความสามารถในการสะท้อนความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นธรรม

การฝึกฝนกระบวนการ RJ อย่างสม่ำเสมอยังเอื้อให้เกิดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเยียวยาความเสียหายอย่างตรงจุด เสริมสร้างวัฒนธรรมการเอาใจใส่ในสถานศึกษา โดยคุณครูจะสามารถปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการดูแลซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกันภายในห้องเรียน เมื่อเด็กและเยาวชนมีโอกาสมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พวกเขาจะสามารถเข้าใจเจตนาของกระบวนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ครูพยายามสื่อสาร และจะเกิดความตระหนักในผลกระทบของการกระทำของตน อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทิศทางที่เหมาะสม

ในท้ายที่สุด การจัดการปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กและเยาวชนมีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และตระหนักถึงเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองผ่านกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา (Restorative Justice – RJ) ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียหาย โดยใช้ทักษะสื่อสารอย่างสันติและการฟังอย่างตั้งใจ เพื่อตอบสนองงความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูความสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจระหว่างบุคคลในชุมชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความขัดแย้งในบริบทของสถานศึกษา ครูจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความเข้าใจตนเองและผู้อื่นให้แก่เยาวชน การฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการดำเนินกระบวนการ RJ อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ครูสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุม จัดกระบวนการให้แก่ทุกฝ่ายได้อย่างปลอดภัย  และสามารถส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพ รับฟัง และรับผิดชอบร่วมกันในฐานะสมาชิกของชุมชน อันเป็นรากฐานที่มั่นคงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน

นางสาวอรรุจี อ่อนหวาน

เจ้าหน้าที่ประสานงานนโยบาย
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย