hand
orange-bg

เกี่ยวกับ RJ

กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice – RJ) ได้รับการรับรองหลักการจากคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ในปี 2002 ภายใต้ หลักการฟื้นฟูเยียวยาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา (Basic Principles on the Use of Restorative Justice Programmes in Criminal Matters) ปัจจุบันหลากหลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำหลักการของกระบวนการเชิงฟื้นฟูเยียวยา (RJ) ไปปฏิบัติใช้ในกระบวนการยุติธรรมและในบริบทที่หลากหลาย ในรูปแบบการจัดกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การจัดประชุมรูปแบบวงกลม หรือการจัดกระบวนการกึ่งสมานฉันท์ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centred Justice) ซึ่งกระบวนการ RJ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและประชาชนในการแก้ไขปัญหา การฟื้นฟูความสัมพันธ์และการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน กระบวนการ RJ ยังส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (Access to Justice) สำหรับประชาชนทุกฝ่าย
กระบวนการ RJ ในประเทศไทยนั้น มีความผูกพันกับวิถีการดำเนินชีวิตของของคนไทยมาอย่างยาวนาน จากการศึกษาวิจัย เรื่อง ความยุติธรรมเพื่อความกลมเกลียว: แนวทางของประเทศไทยเพื่อนําไปสู่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พบว่า ประเทศไทยมีหลักฐานการดำเนินกระบวนการ RJ ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ วัฒนธรรม และจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบัน การขับเคลื่อนกระบวนการ RJ ในประเทศไทยยังได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้กฎหมาย เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ และทนายความ ซึ่งร่วมกันผลักดันให้ RJ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ บุคลากรจากภาคการศึกษายังตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของ RJ ในการประยุกต์ใช้ในหลากหลายบริบทเพื่อส่งเสริมความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นในการสนับสนุนกระบวนการ RJ ในสถานศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง นับเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice – RJ) คือ กระบวนการใด ๆ ที่มีผู้ดำเนินกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การชดเชยเยียวยา ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด สมาชิกของชุมชน และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบและ/มีส่วนเกี่ยวข้องในการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในข้อตกลงเชิงสมานฉันท์

การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การสร้างสำนึกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิด และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการฟื้นฟูความสัมพันธ์และการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
นอกจากนี้ การดำเนินกระบวนการ RJ เป็นแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่มีความยืดหยุ่นในหลากหลายมิติ โดยผสานหลักการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักแห่งสิทธิมนุษยชน อาทิ การปรับรูปแบบและวิธีการดำเนินกระบวนการให้เหมาะสมกับผู้เข้าร่วม ความหลากหลายของรูปแบบการชดเชยเยียวยา การมุ่งเน้นสร้างสำนึกและการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา กระบวนการ RJ นี้ สามารถใช้เป็นแนวทางเสริมหรือทางเลือกของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้

Vision

ความยุติธรรมที่มุ่งเน้นการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายแบบดั้งเดิมในหลายประเทศนั้น มีลักษณะแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) โดยกฎหมายมักให้ความสำคัญกับการบังคับให้ผู้กระทำผิดดำเนินการชดใช้ความผิดมากกว่าให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของผู้เสียหาย การดำเนินกระบวนการยุติธรรมลักษณะดังกล่าวมักก่อให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างคู่กรณี การบรรเทาข้อพิพาทและการสร้างสำนึกของผู้กระทำผิดเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทนมักไม่ครอบคลุมการเยียวยาความเสียหายหรือผลกระทบต่อจิตใจและสภาวะทางอารมณ์ได้เท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้เอง กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาจึงได้รับความนิยมจากหลายภูมิภาคทั่วโลกในฐานะแนวทางเสริมหรือแนวทางเลือกของกระบวนการยุติธรรมแห่งยุคปัจจุบัน อันเนื่องจากเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้เสียหายเป็นสำคัญ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสำนึกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิด จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และบรรเทาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน

Mission

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มุ่งมั่นในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยา รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ปฏิบัติงานและบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระดับสากล เพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centred Justice) ผ่านการรณรงค์เชิงนโยบาย การประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการสนับสนุนแนวปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟูเยียวยาในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง