หน้าแรก > เกี่ยวกับเรา

7645
orange-bg

About Us

เว็บไซต์ rjthapp นี้ อยู่ในระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูลภายใต้ความร่วมมือระหว่างฝ่ายประสานนโยบาย ๓ สำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบายแห่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Faculty of Law, Chiangmai University – CMU) โดยริเริ่มกระบวนการพัฒนานวัตกรรมในระบบปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา (Innovation to Support the Use Restorative Justice Programmes) ในประเทศไทย บนพื้นฐานข้อเสนอแนะของผลงานการศึกษาและวิจัยเรื่อง ความยุติธรรมเพื่อความกลมเกลียว: แนวทางของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมสมานฉันท์ (Harmonious Justice: Thailand’s Approach to Restorative Justice) โดยกระบวนการพัฒนานวัตกรรม


ในระบบปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นับเป็นส่วนเสริมประการสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน การสนับสนุนภาครัฐแบบระบบเปิด (Open Government) ที่มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา ในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม

หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม การฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในประเทศไทย ดังถ้อยแถลงด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา มุ่งเน้นการผลักดันความเชื่อมั่นในการลงทุนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 

โดย “การฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุน ทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ” สำหรับข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมและแนวทางสำคัญในการพัฒนาขัดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยนั้น IMD World Competitiveness Index 

พบว่าการพัฒนาประเทศที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนควรให้ความสำคัญหลักนิติธรรมควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากสถาบันต่าง ๆ (Institutional Framework) ของประเทศผ่านการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพทางการปกครองทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ความมั่นคงและศักยภาพที่เข้มแข็งของสถาบันดังกล่าวจะส่งผลสะท้อนต่อการประเมินตัวชี้วัดในด้านโครงสร้างทางสังคม (Societal Framework) 

ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเหล่านี้ จะหนุนเสริมคุณภาพในการดำรงชีวิตของประชาชนและสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ ความตระหนักรู้ต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิทางความเท่าเทียม สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนสิทธิในการได้รับการฟื้นฟู/เยียวยาให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

The World Justice Project (WJP) ได้เปิดเผยดัชนีชี้วัดในประเทศไทย ปี 2566

เกี่ยวกับการประเมินหลักนิติธรรม (Rule of Law) อย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

การจำกัดอำนาจของรัฐบาล

 การปราศจากคอร์รัปชัน

ภาครัฐแบบระบบเปิด
สิทธิขั้นพื้นฐาน
การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย
การบังคับใช้กฎหมาย
ความยุติธรรมทางแพ่ง
ความยุติธรรมทางอาญา

ผลจากการประเมินทั้ง 8 ด้านพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยที่ 0.49 จากคะแนน เต็ม 1 ส่งผลให้ภาครัฐมีความริเริ่มเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการลงทุนตามแนวทางของดัชนีชี้วัดทั้ง 8 ด้าน โดยกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของหลักนิติธรรม (Rule of Law) เพื่อส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

มีกลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและมีความเข้มแข็งภายใต้กรอบการดำเนินงานตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไม่เพียงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจ ในการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส นับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศไทยในเวทีนานาชาติได้อีกด้วย 

ดังนั้น การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ชุดฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐ (Open Data) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วและตรวจสอบได้นั้น เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิรูประบบฐานข้อมูล ด้านกระบวนการยุติธรรมสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมพัฒนาหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในมิติต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรมให้แก่ภาครัฐได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนากระบวนการยุติธรรม
ผ่านระบบพัฒนาฐานข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา

การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมนับเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นผลสะท้อนจากความสามารถของรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของการใช้อำนาจโดยชอบธรรมของรัฐ
ต่อประชาชน 

นอกจากนี้ การจัดกระบวนการทางเลือกเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนในกระบวนการยุติธรรม โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา (หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ [Restorative Justice – RJ]) กระบวนการดังกล่าวนี้ ช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชนอย่างยั่งยืน และสามารถเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทุก ๆ ฝ่าย (Victim-centred Approach) ได้ตรงตามความต้องการบนหลักการ
ของสิทธิมนุษยชน

การบรรเทาและเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของประชาชนโดยการดำเนินกระบวนการ ยุติธรรมผ่านกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยานี้ จะช่วยเผยแพร่ความตระหนักรู้ของประชาชนต่อสิทธิของตนในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนสิทธิของตนในฐานะสมาชิกของชุมชนและสังคม อีกทั้ง เป็นการสร้างความตระหนักในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยาในประเทศไทยนั้น มีอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ (Faculty of Law, Chiangmai University – CMU) จึงได้ริเริ่มกระบวนการ พัฒนา นวัตกรรมในระบบปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา (Innovation to Support the Use Restorative Justice Programmes) 

มุ่งเน้น การนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลอันเป็นประโยชน์ของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยาในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งฐานข้อมูลในระบบดังกล่าวนี้ สามารถใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ส่งผลต่อปัจจัยต่าง ๆ ในการดำเนิน กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยาในบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อีกทั้ง การพัฒนาฐานข้อมูลในรูปแบบช่องทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ในการเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาท รวมถึงการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยาในประเทศไทย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของนวัตกรรมในระบบปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์
เพื่อสนับสนุน การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยา (Innovation to Support the Use Restorative Justice Programmes) ก่อให้เกิดมาตรฐานของระบบฐานข้อมูลและปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงฟื้นฟู/เยียวยาในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย อันตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน
การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ความสามารถของระบบยุติธรรมที่เยียวยาผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ การฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายในชุมชนและสังคม ตลอดจนการพัฒนาหลักนิติธรรมในมิติต่าง ๆ ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน