บทความน่ารู้ จาก RJ

การนำเสนอ ทดสอบและรับฟังข้อคิดเห็นของกิจกรรมต้นแบบการพัฒนาระบบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศไทย

โดยคณะผู้แทนสถาบันฯ และหัวหน้าโครงการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 สำหรับอบรมเพื่อนำเสนอ ทดสอบ ระบบในการดำเนินงานของระบบปฏิบัติการฯ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานจริง ทำให้ทราบถึงข้อเสนอแนะและข้อควรระวังในการเก็บข้อมูล ตลอดจนการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ในระบบยุติธรรมชุมชนจากมุมมองของผู้ปฏิบัติในหลายภาคส่วน ผู้ปฏิบัติงานหลายท่านเห็นพ้องว่าเว็บไซต์ดังกล่าวนี้ สามารถเป็นหนึ่งในทางเลือกที่อำนวยความสะดวกสบายในการจัดเก็บข้อมูลขณะลงพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากเว็บไซต์สามารถเข้าระบบผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบและบันทึกข้อมูลได้หลากหลาย เช่น การเก็บข้อมูลรูปภาพและเสียง หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนั้นสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล (Data Base) ได้ตลอดเวลา รวมถึงการเรียกดูข้อมูลย้อนหลังหรือการกู้คืนข้อมูลในอนาคต นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลหรือปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินกระบวนการได้จะช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีกรอบในการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและสามารถถ่ายทอดหน้าที่หรือส่งต่อข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาระบบช่วยเหลือ (Support System) ของเว็บไซต์ที่สามารถเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นไลน์  (LINE) จะช่วยให้การสอบถามหรือการแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจากผู้ใช้งานหรือผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้ ซึ่งผู้ใช้งานทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติการเองมีความคุ้นเคยในการใช้
แอพพลิเคชันดังกล่าว จึงส่งผลกระทบในเชิงบวกและสร้างความพึงพอใจในการใช้งานระบบ สร้างความเชื่อมั่นในการเพิ่มเติมข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลได้ ผู้เข้าร่วมทดสอบจึงเล็งเห็นว่าระบบปฏิบัติการฯ นี้ จะเป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือกระบวนการยุติธรรมภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี

คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม

ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายประสานนโยบาย 3 (การส่งเสริมหลักนิติธรรมและความยุติธรรมทางอาญา) สำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย