นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) รับรองเอกสาร ‘หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ (Basic principles on the use of restorative justice programmes in criminal matters) นี่คือหมุดหมายสำคัญที่เปิดช่องให้ทั่วโลกนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์’ มาพัฒนาและปรับใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ความยุติธรรมได้รับการอำนวยต่อผู้ร้องขออย่างมีประสิทธิภาพ อุด ‘ช่องว่าง’ ที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักไม่สามารถเติมเต็มได้
‘ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายในกระบวนการ’ ‘เยียวยาผู้เสียหาย’ ‘สร้างสำนึก’ ‘สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง’ คือแนวทางที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์พยายามทลายกำแพงระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด สร้างสำนึกผิดเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษ และสมานบาดแผลจากความขัดแย้ง ความเสียหายหรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังที่ อุกฤษฏ์ ศรพรหม กล่าวไว้ว่า
“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการที่เราใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ไม่ได้มองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่กระบวนการ แต่คือสิ่งที่มนุษย์หลายคนร่วมกันหาทางออกร่วม เพราะฉะนั้น มันเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายได้จริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้กระทำความผิดก็ได้รับรู้ผลกระทบที่ตามจากการกระทำของตนเองและมีโอกาสได้พัฒนาวิธีคิดการสร้างสำนึกได้มากขึ้น”
ไทยคือหนึ่งในประเทศที่รับรองข้อมติแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์มาตั้งแต่ต้น และมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้โอบรับหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นลำดับในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีคดีเยาวชน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อไปอยู่ที่การปรับโครงสร้างกฎหมาย เพื่อให้กรอบนโยบาย งบประมาณ และเจ้าหน้าที่มีความพร้อมต่อการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมาฉันท์อย่างเต็มรูปแบบ และการสร้างความเข้าใจของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมที่วาง ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง
อนาคตของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทยควรมีทิศทางอย่างไรต่อ? 101 สนทนากับ อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ว่าด้วยหลักคิดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เส้นทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทย และแนวทางการปรับใช้และพัฒนาหลักดังกล่าวให้บรรลุผลอย่างแท้จริง
การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักมีผลข้างเคียงหรือนำไปสู่ผลกระทบอย่างไรบ้าง จึงมีความพยายามในการหาเครื่องมือทดแทนหรือส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่
ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลัก หรือที่เรียกว่า ‘แนวทางแบบแก้แค้นทดแทน’ (retributive justice) อาจมี pain point บางอย่างเกิดขึ้น
แนวทางดังกล่าวถูกพัฒนามาเพื่อจัดการกับความผิดต่อรัฐหรือความผิดที่สังคมไม่ยอมรับเป็นความผิดทางอาญาที่ต้องลงโทษผู้กระทำผิด เพราะฉะนั้น ในกระบวนการพิจารณาคดี ผู้กระทำผิดจะถูกผลักออกไปอยู่คนละฝั่งกับผู้เสียหาย แต่ละฝ่ายต้องเอาพยานหลักฐานที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างมาสู้กันในคดี ส่วนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝั่งจะเป็นหน้าที่ของศาลในการตัดสินว่าใครผิดหรือไม่ผิดอย่างไร
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมที่มุ่งกันผู้กระทำความผิดออกจากผู้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยการขังระหว่างพิจารณา การใช้กำไล EM การควบคุมตัว หรือกระทั่งการพิพากษาจำคุกถือว่าเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของ retributive justice คือ แยกผู้กระทำผิดให้ห่างจากผู้เสียหายหรือออกจากสังคมเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย แต่กระบวนการตามแนวทางแบบ retributive justice ทำให้คู่กรณีสองฝ่ายไม่ได้พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันว่าอะไรคือสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการอย่างแท้จริง อะไรคือเหตุผลในการกระทำผิด หรืออะไรคือความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ อีกทั้งยังขาดโอกาสให้มีกระบวนการเยียวยาความเสียหาย ในทางกลับกัน กระบวนการเช่นนี้อาจทำให้เกิดความแตกแยกในกรณีที่คู่กรณีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน หรือบางกรณีอาจทำให้เกิดความแตกแยกไปถึงระดับชุมชนและระดับสังคม
ทราบมาว่ามีการผลักดันให้มีการนำ ‘กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์’ (restorative justice) มาใช้ร่วมหรือใช้แทนกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก แนวคิดดังกล่าวคืออะไร สามารถอุดช่องว่างที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักได้อย่างไร
หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มี 3 ข้อ คือ หนึ่ง เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย สอง คือการสร้างสำนึกผิดและชดเชยในสิ่งที่ได้กระทำผิดไป และสามคือ มีการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์หรือความเสียหาย
ทุกวันนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ความสำคัญกับขั้นตอนในการพิจารณาความผิด ตำรวจรับแจ้งความ แจ้งความเสร็จทำสำนวน อัยการสั่งฟ้อง ศาลพิจารณาคดี เป็นแพตเทิร์นทั้งหมด แต่บางครั้งเราอาจลืมไปว่า คนที่ต้องผ่านกระบวนการก็คือมนุษย์คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะให้ความสำคัญกับการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (human-centric approach / victim-centric approach) เอาความเป็นมนุษย์ใส่เข้าไปในกระบวนการมากขึ้น การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในการบอกกล่าวสิ่งที่ตัวเองประสบพบเจอค่อนข้างสำคัญ เพราะการลงโทษจำคุก การจ่ายค่าปรับ หรือการเรียกค่าเสียหายจากการฟ้องคดีแพ่งร่วมกับคดีอาญาในกรณีที่มีความเสียหายอาจไม่ได้ช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เสียหายก็ได้
ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้บังคับว่า การไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นไปเพื่อเยียวยาชดเชยความเสียหายเป็นเงินอย่างเดียว อาจตกลงเป็นการกระทำบางอย่างหรือการงดเว้นกระทำบางอย่างตามที่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยเห็นตรงกัน เช่น ผู้เสียหายให้ผู้กระทำผิดต้องการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกยาเสพติด ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือช่วยรับภาระหน้าที่บางอย่างระหว่างที่ผู้เสียหายไม่สามารถทำงานได้ เช่น ในกรณีที่ผู้เสียหายตัวคนเดียว เปิดร้านค้าเลี้ยงชีพในชุมชน ก็อาจจะให้ผู้กระทำความผิดที่ก่อความเสียหายมาเฝ้าร้านแทนก็ได้เพื่อให้มีรายได้
ในส่วนของการสร้างสำนึกผิด ในกระบวนการดำเนินการคดีอาญาตามระบบกล่าวหา (adversarial system) ที่ต่างฝ่ายต่างต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง การสำนึกผิดจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างสู้คดีเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือกระบวนการที่พยายามสร้างสำนึกต่อการกระทำผิด อย่างในกรณีสังคมใหญ่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายอาญา หากผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงในคดี เช่น ผู้เสียหาย ครอบครัวของผู้เสียหายและผู้ที่มีความเสียหายโดยอ้อม เช่น ชุมชน เข้าร่วมกระบวนการ ผู้กระทำผิดจะเริ่มสำนึกผิด เพราะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำผิด
หรือหากใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในระดับที่ไม่เป็นทางการ ไม่ผ่านกระบวนการทางอาญา อย่างเช่นการกระทำผิดในโรงเรียน เมื่อเริ่มกระบวนการ มีเพื่อนร่วมชั้นเข้าร่วมกระบวนการแล้ว นักเรียนที่กระทำผิดจะเริ่มได้ฟังจากสังคมในโรงเรียนว่าการกระทำแบบไหนที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในโรงเรียน
ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วม โดยปกติกระบวนการยุติธรรมทางอาญากระแสหลักจะผลักทั้งสองฝ่ายออกจากกัน ต่างฝ่ายต่างเอาหลักฐานออกมาสู้คดีเพื่อให้พ้นผิด แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะรวมคนที่มีส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผู้เสียหาย ครูประจำชั้นในกรณีการกระทำผิดในโรงเรียน เพื่อนร่วมงานในกรณีการกระทำผิดในสถานที่ทำงาน ครอบครัวก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ หรือถ้าเป็นความเสียหายในระดับสังคม เช่น ในบางประเทศ คดียาเสพติดบางกรณีถือว่าชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นชุมชนอาจเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางว่าต้องการจะให้ผู้กระทำผิดปรับพฤติกรรมอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกับชุมชนต่อไปได้
เพราะฉะนั้น มันมีวิธีการในการอำนวยความยุติธรรมที่หลากหลายไปมากกว่ากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและสามารถนำมาเสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ องค์การสหประชาชาติเองก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม
ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายประสานนโยบาย 3 (การส่งเสริมหลักนิติธรรมและความยุติธรรมทางอาญา) สำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย